SINGHA
EXPERIENCE


BACK

A DAY WITH OLYMPIC DIGGER

ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่อะไรๆ ก็ดูง่ายดายขึ้นความเจริญระบบดิจิทัลได้เข้าแทรกซึมการใช้ชีวิตของมนุษย์ไปทุกหย่อมหญ้าแต่สุดท้ายธรรมชาติของเหล่าสรรพสิ่งในโลกหล้าย่อมคืนสู่สามัญ เช่นเดียวกับสื่อเสียงดนตรีที่ปลอบประโลมใจและโสตประสาทเราให้คละเคล้าไปด้วยความบันเทิงเพราะแม้จะมีการคิดค้น Music Streaming หรือสื่อเสียงเพลงที่ไม่ต้องการวัตถุใดๆบีบอัดลงไปอย่างในอดีต แต่เมื่อความสุดขีดของเทคโนโลยีได้เกิดขึ้นมาสักระยะเราจะเริ่มเห็นความโหยหาอดีตอันหอมหวานแบบอะนาล็อกอยู่ในบางวัฒนธรรมและกำลังขยายตัวไปเรื่อยๆ

หากพูดถึงหนึ่งในสื่อเสียงเพลงแบบอะนาล็อกที่กำลังถูกจับตาเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “แผ่นเสียง” เป็นวัตถุที่หลายคนปรารถนาและอยากได้มาครอบครองไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของคุณภาพเสียงเพลงที่จับต้องได้ ศิลปะการออกแบบบนปกอัลบั้มที่จรรโลงใจเมื่อได้พลิกมาดูหรือความหายากเพราะการผลิตได้ล่วงเลยมากว่าเกือบครึ่งทศวรรษก็ตามซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ยังมีกลุ่มคนหนึ่งในประเทศไทยที่หลอมรวมความรักและความเข้าใจในการสะสมแผ่นเสียงสู่การสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้อย่างไม่ได้หากำไรเพราะทำด้วยใจจริงๆ อย่าง Oympic Digger และเราจะไปรู้จักพวกเขาให้มากกว่าไปพร้อมๆ กัน


ปลุกกระแสการกลับมาของแผ่นเสียงด้วยการการแบ่งปันความรู้สู่แรงบันดาลใจ

จุดเริ่มต้นของ Olympic Digger คือช่วงสงกรานต์ของปี 2558 ที่ทั้งโลกจะจัดงาน Records Store Day เป็นประจำทุกๆ ปีทั้งสามคนเลยเกิดไอเดียที่ว่าอย่างสร้างคอมมิวนิตี้ขึ้นอีเว้นท์นั้นจึงเกิดมาในพื้นที่ออฟฟิศเล็กๆ ย่านสาทร ซึ่งเริ่มแรก แพน-หทัยชนก อรรถบุรานนท์ อ๊อฟ-มนต์ชัย ศรีจงใจ และจอย-ณัฐวุฒิ นิลขำ ตั้งใจเพียงจุดประกายให้คนที่ไม่เคยสัมผัสสังคมแห่งแผ่นเสียงนั้นรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่จับต้องได้เข้าถึงไม่ยาก Olympic Digger จึงถูกให้กำเนิดขึ้นและชักชวนเพื่อนๆ ที่สะสมแผ่นเสียงหรือทำอาชีพดีเจอยู่แล้วมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันของที่มีเพราะเชื่อว่าแม้แต่ละคนจะมีความรู้แต่นั่นก็ไม่ใช้หนทางสู่ความยั่งยืนและการได้พูดคุยในสิ่งที่แต่ละคนชอบไม่เหมือนกันจะเป็นพลังให้สร้างแรงบันดาลใจได้ในวงกว้าง

และหากใครยังสงสัยว่า Olympic Digger คืออะไรเรามีคำตอบให้ว่ากลุ่มก้อนแห่งคนรักแผ่นเสียงนี้ได้ชื่อที่มาจากการออกไปค้นคุ้ยหาแผ่นเสียงอย่างหนักหน่วงซึ่งในคำศัพท์สแลงภาษาอังกฤษจะเรียกคนประเภทนี้ว่า “Digger” และจอย-ณัฐวุฒิ เองก็เป็นผู้ที่จริงจังและทุ่มเทเวลาให้กับการขุดคุ้ยนี้จนได้ชื่อเรียกจากเพื่อนๆ ว่าเป็นนักคุ้ยแผ่นระดับโลก Olympic Digger จึงเกิดขึ้นมาแล้วกลายเป็นชื่อที่พวกเขาใช้เรียกตัวเองจนถึงปัจจุบัน

ทั้งสามคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จุดประสงค์หลักๆ ของ Olympic Digger คือการสนับสนุนนักสะสมและผู้สนใจแผ่นเสียงในบ้านเราด้วยแนวคิดที่ว่า “Support Your Local Vinyl” และอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าการฟังแผ่นเสียงเป็นสิ่งที่ง่ายเพราะไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่สะสมอยู่แล้วแต่คนที่สนใจก็สามารถมาคุยมาหาความรู้กับใครก็ได้ อยากจะถามเรื่องอะไรในเรื่องราวต่างๆ ก็ย่อมทำได้ ซึ่งบทสนทนาต่างๆเหล่านี้คือสิ่งที่พวกเขาหมายใจให้เกิดขึ้นรวมไปถึงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยโดยนักสะสมมืออาชีพแบบ Trade & Talk เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เริ่มต้นสะสมหรือเริ่มสนใจในแผ่นเสียงนี้

แพน-หทัยชนก อรรถบุรานนท์

Brand Manager Marshall


จริงๆ แล้วการกลับมาของแผ่นเสียงเป็นกระแสหรือเปล่า?


    จริงๆ มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเทคโนโลยีเจริญมากๆ เเล้วเรามักจะกลับไปถามหาอะไรที่เป็นธรรมชาติเป็นสามัญมันไม่ได้เกิดขึ้นกับเเค่วงการเพลงเเต่ว่าเป็นกับทุกๆอย่างเหมือนกับว่าตอนนี้หลายๆ คนตามหาสิ่งที่มีความหมายกับเรามากกว่าการเป็นเเค่วัตถุซึ่งสำหรับตัวเราเอง เเผ่นเสียงตอบโจทย์เราตรงนั้น เพราะเราชอบเพลงในยุคเก่าแบบ 60s - 80s และในยุคนั้นมันมีเพียงเเผ่นเสียงที่เป็นรูปแบบการฟังเพลงมาตราฐานมันก็เหมือนเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเรากับเพลงที่เราชอบทางด้านจิตใจ เราว่าการกลับมาของแผ่นเสียงน่าจะเป็นกระแสส่วนหนึ่งเพราะอย่างที่บอกว่าทุกวันนี้อะไรที่มันก้าวหน้ามากๆ การจะกลับไปสู่แนวคิดและระบบอะนาล็อกก็จะกลับมาเรารู้สึกได้ว่ามันมีคนชอบคนที่สะสมแผ่นเสียงเยอะมากขึ้น

ความแตกต่างของเสียงเพลงแบบอะนาล็อก กับ ดิจิทัล?


    ถ้าถามเราว่าความแตกต่างของแผ่นเสียงกับการฟังเพลงตาม Streaming Music แล้วน่าจะเป็นที่ความรู้สึกมากกว่า เพราะเพลงทุกเพลงเราจะฟังที่ไหนก็ได้จะฟังจากแอพพลิเคชั่นมือถือก็สะดวกแล้ว แต่จริงๆ เสน่ห์ของแผ่นเสียงมันคือการที่เราได้คุ้ยได้จับได้หยิบขึ้นมาบางทีมันก็แบบมีความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของบทเพลงที่จับต้องได้มันก็จะเป็นความรู้สึกในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ไม่ใช่แค่มีความสุขจากเสียงเพลงอย่างเดียว

    อยากเริ่มฟังและสะสมแผ่นเสียงต้องทำอย่างไร?


    การเริ่มต้นฟังหรือสะสมแผ่นเสียงมันไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวเลย เพราะเหมือนกันการจับจ่ายซื้อแผ่น CD หรือเทปจากนั้นก็ซื้อเครื่องเล่นตามงบประมาณที่พอใจ แล้วอุปกรณ์ต่างๆ อย่างแอมป์และอื่นๆ ก็จะตามมาประกอบกันจนเป็นรูปเป็นร่างซึ่งระหว่างทางก็คือความสนุกและหาความรู้ไปพร้อมๆ กัน


    ก่อนอื่นเลยไม่ต้องคิดมากว่าเราจะต้องเก็บแผ่นแบบไหน วงไหน ปีอะไรมีความหายากมากแค่ไหน เพราะหลายๆ คนก็จะเป็นแบบนั้นแนะนำให้ตั้งต้นจากเพลงที่ตัวเองชอบก่อนดีกว่า เพราะฉะนั้นไม่ต้องสนใจอะไรทั้งนั้นนอกจากสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ ให้เริ่มจาก วงโปรด เพลงโปรด เพลงที่มีความหมายหรือมีอดีตกับเรา ที่เราอยากเก็บความทรงจำนั้นเอาไว้ อยากคิดถึงมันได้บ่อยๆเพราะเราจะไม่มีวันเบื่อสิ่งนั้น และเราไม่อยากให้เก็บเเผ่นเสียงเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนทำ เป็นเเฟชั่น หรือว่าเป็นกระเเสเพราะถ้าเราเริ่มจากการดูจากคนอื่นดูจากมาตราฐานโลกว่าเขาเก็บอะไรกัน เล่นอะไรกันสุดท้ายเราก็จะไม่ได้รักมันมากขนาดนั้น เเล้วก็อาจจะเบื่อมันอยู่ดี

อ๊อฟ-มนต์ชัย ศรีจงใจ

เจ้าของร้าน Sugar Ray You’ve Just Been Poisoned

อีเว้นท์ที่คิดว่าสนุกที่สุดของ Oympic Digger คือครั้งไหน?

    น่าจะเป็นช่วงเเรกๆ ที่เราเริ่มทำคือ Trade & Talk ซึ่งคอนเซ็ปต์แรกของมันคือ Trade หรือการแลกเปลี่ยนให้ทุกคนเอาเเผ่นที่อาจจะไม่ชอบฟังเเล้ว หรือเบื่อเเล้วไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป มาเเลกเปลี่ยนกับใครก็ได้ที่งาน มาถึงก็คุยกับใครก็ได้เห็นว่าใครมีเเผ่นไหนก็ขอเเลกกับกันได้เลย และจริงๆ เราไม่อยากให้คนที่มาร่วมงานคิดว่าเรามีเเต่ร้านขายของอยากให้ได้บรรยากาศเเบบงานเปิดท้ายที่เอาของตัวเองออกมาแลกเปลี่ยนกันมากกว่าเเละในส่วนของ Talk คือเราอยากให้คนที่ยังไม่ได้เริ่มหรือพึ่งเริ่มศึกษาเกี่ยวกับแผ่นเสียงได้รับความรู้เเละเเรงบันดาลใจจากนักสะสมที่จะมาเล่าเรื่องราวของตัวเองว่าเริ่มต้นอย่างไร ชอบอะไร เเละมีอะไรเป็นเเนวทางในการสะสมแบบไหน

เครื่องดื่มกับการฟังแผ่นเสียงไปด้วยกันได้อย่างไร?


    เครื่องดื่มดีๆ กับเพลง Soul หรือ Jazz นุ่มๆ ก็จะทำให้เสียงเพลงมันเพราะขึ้นเพราะเราได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศของช่วงเวลานั้นๆ ไปกับรสชาติซึ่งก็เหมือนการรับสัมผัสทั้ง 2 แบบคือรส และเสียงไปพร้อมๆ กันและที่สำคัญคือเรื่องราวของเพลงประเภทนี้ที่เข้าถึงอารมณ์ของคนได้ง่ายกว่าและที่ร้านเราก็จะมีเพลย์ลิสต์หลายเเนวตั้งแต่ Cuban, Jazz, Soul, R&B, Reggae เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องเสียงเพลงไม่เเพ้เรื่องเครื่องดื่ม

จอย-ณัฐวุฒิ นิลขำ

เจ้าของร้านแผ่นเสียง Vinyl Feeling

การเดินทางไปตามหาแผ่นเสียงมันมีเสน่ห์กว่าการใช้ Streaming Music อย่างไร?

    เราเคยอยู่ในยุคที่มีสื่อดิจิทัลน้อยมากทุกสิ่งที่เรามีคือสิ่งที่จับได้ สัมผัสได้และแผ่นเสียงก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า เพลงๆ นั้นมันอยู่กับเราจริงๆ ได้จับ ได้สัมผัสมันจริงๆ การได้ออกตามหาแผ่นหาเพลงที่เคยฟังในที่ต่างๆ มันเป็นเรื่องที่ท้าทายตัวเองมาก มีความสนุกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เจอแผ่นที่เราตามหาเพราะบางแผ่นกว่าก็หาเจอก็ใช้เวลาร่วมเป็นปี อีกอย่างคือเราเชื่อในความสำคัญของ รูป รส กลิ่น เสียงสิ่งสัมผัสเหล่านี้มีความหมายกับการทำสิ่งต่างๆ ของเรามาก การดื่มก็เช่นกันสุนทรีย์ของเสียงมักสร้างบทสนทนาที่ดีในการสังสรรค์เสมอ

“เราชัดเจนในตัวเองกันมากว่าเราไม่ใช่ร้านค้า

เราไม่ใช่งานอีเว้นท์ที่ทำเพื่อขายของ

หรืองานปาร์ตี้ดีเจให้คนมาสนุกๆเเล้วก็จบไป

แต่เราตั้งใจที่จะสนับสนุนและปลุกสังคม

แห่งคนรักแผ่นเสียงให้กลับมาอีกครั้ง”